2246 Views |
#ข้อเข่าเสื่อมพบในวัยใดบ้าง
โรคข้อเสื่อมมีความสัมพันธ์อย่างมากกับอายุ โดยทั่วไปจะพบมากในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปและพบสูงถึงร้อยละ 60 ในกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามโรคข้อเสื่อมไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัยหรือจากการสึกหรอตามธรรมชาติเสมอไป
โรคข้อเสื่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงในเซลล์และเนื้อกระดูกอ่อนข้อต่ออย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้โครงสร้างและการทำงานของกระดูกอ่อนเสียไป ซึ่งติดตามด้วยกระบวนการซ่อมแซมกระดูกอ่อนและปรับแต่งกระดูก การลุกลามของอาการข้อเสื่อมจึงแตกต่างกันไป บางรายเกิดการลุกลามอย่างรวดเร็วที่ข้อหนึ่ง แต่ข้ออื่นๆ กลับเป็นไปอย่างช้าๆ บางครั้งก็อาจจะดีขึ้นเอง นั่นคือ มีการซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมทำให้อาการปวดลดลง
มีการศึกษาที่น่าสนใจ คือ เมื่อติดตามผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเสื่อมเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป ด้วยภาพรังสีพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วย โรคไม่ได้ลุกลามมากขึ้น ร้อยละ 10 มีภาพรังสีดีขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามภาพรังสีที่พบไม่ได้สัมพันธ์กับอาการแสดงของผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากสำหรับแพทย์ที่จะพยากรณ์โรคหรืออธิบายการดำเนินโรค แต่ที่ทราบแน่ชัดคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อเสื่อมลุกลามเร็ว ได้แก่ การบาดเจ็บบริเวณข้อ การบิดหมุนข้อหรือมีแรงกระทำซ้ำๆ ข้ออักเสบเกาต์ และความผิดปกติตามระบบประสาทกล้ามเนื้อ
วิธีการรักษาในปัจจุบัน
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีซ่อมแซมหรือเปลี่ยนกระดูกอ่อนข้อต่อที่สึกหรออย่างมีประสิทธิภาพ จุดประสงค์ในการรักษา คือ ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยว่าโรคข้อเสื่อมไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือก่อให้เกิดทุพพลภาพมากมาย ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ข้อเสื่อมลุกลามได้ เช่น ควบคุมน้ำหนัก ลดน้ำหนักรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่โดยเฉพาะกลุ่มวิตามิน ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆ ข้อแข็งแรงและให้ข้อยืดหยุ่นได้ดี ทั้งนี้ ควรเป็นกีฬาที่ผ่อนคลายและไม่มีการปะทะรุนแรง เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเร็ว เป็นต้น การออกกำลังกายอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอจะช่วยชะลอการเสื่อมหรือลดอาการปวดได้อย่างมาก
ยาและอาหารเสริมบางชนิดสามารถเปลี่ยนโครงสร้างกระดูกอ่อนข้อต่อได้ แต่ข้อเสียคือ ออกฤทธิ์ช้า มีราคาแพง และไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีข้อเสื่อมรุนแรง ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัดและการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะสามารถระงับอาการปวดในผู้ป่วยที่รับประทานยาแก้ปวดลดอักเสบแล้วไม่ได้ผล ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ภาวะแทรกซ้อนและอัตราการตายจากการผ่าตัดมีน้อยมากเนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบแผลเล็กและใช้คอมพิวเตอร์ช่วยนำทาง ทำให้มีความแม่นยำมาก มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อย ผู้ป่วยจะฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว
โรคข้อเสื่อมมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการศึกษาวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าโรคข้อเสื่อมเกิดจากภาวะความผิดปกติที่ข้อต่อมากกว่าการสึกหรอตามวัย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกอ่อนข้อต่อและกระดูกเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน หากสามารถพบความผิดปกติที่ขั้นตอนใดก็สามารถหาวิธีในการป้องกันหรือรักษาข้อเสื่อมได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาหรือชะลอการลุกลามของโรคข้อเสื่อมได้
ในปัจจุบันนักวิจัยได้ค้นพบยีนส์หลายตัวที่มีความสัมพันธ์กับโรคข้อเสื่อม และประเมินว่าโรคข้อเสื่อมถูกกำหนดด้วยพันธุกรรมถึงร้อยละ 60 ในอนาคตแพทย์อาจจะสามารถคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเสื่อมได้ โดยการเจาะเลือดตรวจหายีนส์ที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เพื่อให้ความรู้และแนะนำวิธีการป้องกันโรคแก่ผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม
อาหารที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีแคลอรีสูงซึ่งจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี วิตามินซี เบตาแคโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยสร้างคอลลาเจน วิตามินเหล่านี้จะช่วยชะลอการลุกลามของข้อเสื่อมได้เล็กน้อย มีการศึกษาที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำจะมีความเสี่ยงต่อการลุกลามของข้อเสื่อมมากกว่าผู้ที่มีระดับวิตามินดีสูง ดังนั้น นอกจากจะต้องรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว ควรออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
โดย นายแพทย์วิวัฒน์ วจนวิศิษฐ์