ปวดขา ตะคริว สัญญาณโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

43293 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปวดขา ตะคริว สัญญาณโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ

#ปวดขา ตะคริว สัญญาณโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ PAD#11_ อาการบ่งบอกโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ขา

หลาย ๆ คนมักเข้าใจว่าอาการปวดขา เป็นอาการของโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ กระดูก หรือเป็นอาการทั่วไปของผู้สูงอายุ แต่ความจริงแล้วอาการปวดตามแขนขาอาจบ่งถึงโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือ PAD (Peripheral Artery Diseas) ได้อีกด้วย ซึ่งมักพบมากตั้งแต่วัยกลางคนลงไป โดยมีสาเหตุมาจากการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดแดง โดยอาการแรกเริ่มที่พอสังเกตได้คือ มีอาการปวดตามแขนขา และหากไม่ได้เข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ อาการอาจรุนแรงขึ้นจนถึงขนาดเกิดบาดแผล เนื้อตาย และถึงขึ้นต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งได้

ฟังดูแล้วก็เป็นโรคที่น่ากลัวไม่เบาเหมือนกันนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมเลยได้นำบทความดี ๆ จากเว็บไซต์สุขภาพ health.com ถึงอาการแรกเริ่มของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ที่จะปรากฏที่เรียวขามาฝากกัน จะได้ระวังรักษากันแต่เนิ่น ๆ ค่ะ

1. ปวดขา...อาการปวดขานับเป็นอาการแรกเริ่มของโรค PAD โดยผู้ป่วยอาจเกิดอาการเจ็บปวด ตั้งแต่ปวดแปลบ ร้อนวูบ หรือรู้สึกหนักขา ตั้งแต่บริเวณน่อง จนถึงต้นขาหรือสะโพก อันเกิดจากเส้นเลือดแดงที่ตีบตัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปหล่อเลี้ยงขาได้เพียงพอ ทั้งนี้อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับขาทั้งสองข้างหรือเพียงข้างเดียว

2. ตะคริวกลางดึก...ในบางรายอาจมีอาการตะคริว หรือกระตุกที่เท้า ในบริเวณฝ่าเท้า เท้าส่วนหน้า หรือ นิ้วเท้า โดยอาการจะดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นมานั่งเก้าอี้ หรือนั่งห้อยขา เนื่องจากแรงโน้มถ่วงโลกจะช่วยดึงให้เลือดไหลไปหล่อเลี้ยงขาและเท้าได้มากขึ้น

3. ความเปลี่ยนแปลงของเล็บและผิวหนังที่ขา...เมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้สะดวก ทำให้ไม่สามารถนำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงที่ขาได้เพียงพอ เส้นขนที่ขาและเท้าอาจหลุดร่วง หรืองอกกลับช้าหากได้รับการโกน ผิวหนังแห้งตึง รวมทั้งเล็บยาวช้าแต่หนาขึ้นด้วย

4. สีผิวผิดปกติ...เมื่อยกขาขึ้นสูง สีผิวที่ขาในผู้ที่มีอาการ PAD จะขาวซีด เนื่องจากเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงได้ถึง เมื่อห้อยขาลง เลือดเริ่มสูบฉีดได้ สีผิวจึงเปลี่ยนเป็นออกแดงจนถึงม่วง แต่ในบางรายอาจอาจมีนิ้วเท้าซีดจนแทบออกเป็นสีฟ้า เพราะระบบหมุนเวียนเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เนื่องการเส้นเลือดแดงตีบตัน

5. เท้าเย็น...อาการเท้าเย็นเป็นหนึ่งในอาการของโรค PAD แต่อย่างไรก็ตามคนทั่วไปที่ไม่มีอาการของ PAD ก็สามารถเกิดการเท้าเย็นได้ แต่หากเมื่อใดที่คุณเกิดอาการเท้าเย็นเพียงข้างเดียว นั่นคือสัญญาณอันตรายจากโรค หลอดเลือดแดงส่วนปลายแล้ว

6. แผลเปื่อยที่ไม่รู้สึกเจ็บ...อาการเลือดหมุนเวียนผิดปกติ นำมาสู่การเกิดแผลเปื่อยรักษายากที่เท้า โดยบาดแผลจะมีสีคล้ำ ตั้งแต่น้ำตาลจนถึงดำ และมีอาการเจ็บปวด ซึ่งจะแตกต่างจากอาการแผลเปื่อยในโรคเบาหวาน ที่มีบาดแผลลักษณะคล้ายกัน แต่ไม่มีอาการเจ็บปวด เพราะอาการเบาหวานทำให้เส้นประสาทไม่ได้รับความรู้สึกเจ็บปวดตามปกติ

7. อาการงอตัวไม่ลง...อาการนี้อาจไม่ได้พบเห็นในผู้ป่วย PAD ทุกราย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อเส้นเลือดแดงที่บริเวณกระดูกส่วนปีกสะโพกเกิดการตีบตัน ทำให้มีแรงดันในเส้นเลือดสูง จึงเกิดอาการตึง และงอตัวไม่ลงตามมาได้นั่นเอง

8. ขาชาและอ่อนแรง...หากเกิดอาการแข้งขาอ่อนแรง และมีอาการเท้าชาร่วมด้วย นี่เป็นอาการหนึ่งของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย และยิ่งเกิดอาการนี้ทั้ง ๆ ที่กำลังนั่งพักอยู่ โดยไม่ได้เดิน วิ่ง หรือออกกำลังที่ขา มีแนวโน้มว่าอาการ PAD จะรุนแรงกว่าคนทั่วไปอีกด้วย

9. น่องลีบเล็ก...เมื่ออาการของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายเริ่มรุนแรงขึ้น อาจปรากฏว่าน่องดูเล็กลีบลง เกิดจากการที่เลือดไม่สามารถนำอาหารไปหล่อเลี้ยงบริเวณนั้นได้ตามปกติ ทำให้กล้ามเนื้อเริ่มตาย น่องจึงดูเล็กลีบลงนั่นเอง

10. เนื้อเยื่อตาย...ผู้ประสบภาวะ PAD ร้อยละ 80 มักไม่มีอาการของโรคร้ายแรงจนน่าวิตก ในขณะที่กลุ่มที่เหลืออาจต้องประสบกับภาวะเนื้อตาย ซึ่งนับเป็นอาการของโรคขั้นร้ายแรง โดยอาการเนื้อตาย อาจลุกลามและขยายวงกว้างขึ้นจนเป็นกลุ่มเนื้อที่กินเนื้อเยื่อที่ขาไป จนถึงขึ้นต้องตัดเท้าหรือขาทิ้งได้

11. ไม่ปรากฏอาการใด ๆ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง...ในผู้ป่วย PAD หลาย ๆ คน ไม่มีอาการแรกเริ่มที่เป็นสัญญาณบ่งบอกของโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย แต่กลับอยู่ในกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อโรค PAD อย่างผู้ที่สูบบุหรี่มีความสุ่มเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 50ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีระดับคอเรสเตอรอลในเส้นเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ หรือมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อโรค PAD มากกว่าคนทั่วไปด้วย

เพื่อไม่ให้โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย หรือ PAD มากล้ำกราย แม้ในขณะที่ยังไม่มีอาการของโรค ก็อย่าลืมเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารมัน หรือให้พลังงานมากเกินไป ไม่สูบบุหรี่ รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ขอบคุณข้อมูลจาก  health.kapook.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้